ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยแบก 5 ด้าน
Loading

ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยแบก 5 ด้าน

วันที่ : 19 เมษายน 2568
ธปท.รับเศรษฐกิจกระทบแรงใน 5 ด้าน รับการบ้านรัฐบาล ดูแลตลาดการเงินให้ปกติ-จับตาภาคที่ได้รับผลกระทบเพื่อหามาตรการรับมือช่วยเหลือมองปีนี้โตต่ำลงกว่า 2.5% แต่ส่งออกยังไม่ติดลบเกาะติดการชะลอในภาคการผลิต และยกเลิกการลงทุนในภาคที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จ่อนำผลการชะลอตัวเศรษฐกิจเข้าหารือใน กนง. 30 เม.ย.นี้ ยืนยันดูแลค่าบาทต่อไปไม่ให้ผันผวน
   นำผลกระทบที่เกิดขึ้นหารือ กนง. 30 เม.ย.นี้

   นายสักกะภพ พันยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้า โลกต่อเศรษฐกิจไทย ว่าการใช้มาตรการทางภาษีของสหรัฐฯจะส่งผลให้เงินเฟ้อสหรัฐฯสูงขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯจะชะลอตัวลง ตลาดการเงินผันผวน นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา ความผันผวนต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน และตลาดทุนโลกยังจะสูงและต่อเนื่องไปอีกระยะ

   ขณะที่ผลกระทบต่อไทย มี 5 ช่องทางคือ 1.ผลจากการชะลอการลงทุนของนักลงทุนทั้งการลงทุน โดยตรงที่คาดว่าจะเข้ามาในขณะนี้ชะงักไปแล้วบางส่วน ขณะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนต่อเนื่อง 2.การค้าการส่งออกลดลงจากตลาดการค้าโลกจะลดลง รวมทั้งความต้องการซื้อของประเทศทั่วโลกจะลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยในครึ่งปีหลังและต่อเนื่องถึงปีหน้าสินค้าส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบสูง

   "ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่า ผลกระทบต่อการส่งออกจะแรงมากแค่ไหน ต้องดูจากการเจรจาว่าหลัง 90 วัน อัตราภาษีที่เขาคิดจากไทยจะเป็นเท่าไรในเบื้องต้นหากผลกระทบจากภาษีทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯลดลงจากปัจจุบัน 20% ส่งผลให้การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยลดลง 0.4% แต่ยังไม่สามารถคำนวณตรงๆได้ เพราะต้องรวมผลกระทบในส่วนที่ 3 ที่จะมาจากการนำเข้าสินค้าเพิ่มจากสหรัฐฯ และสินค้าราคาถูกจากประเทศอื่นที่จะซ้ำเติมภาคการผลิตของไทยและด้านที่ 4 มีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ชะลอลง และคำสั่งซื้อที่ลดลง"

    นายสักกะภพกล่าวต่อว่า ด้านที่ 5 ตลาดการเงินไทยแม้ว่าจะมีความผันผวน แต่ยังมีเสถียรภาพค่อนข้างสูง เพราะมีหนี้ต่างประเทศต่ำและมีทุนสำรองในระดับสูง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรของไทยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เอกชนยังสามารถระดมทุนผ่านหุ้นกู้ได้เงินไหลเข้าออกยังคงปกติ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามภาวะการเงินของผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบสูงกว่าภาคอื่น ใน 5 ภาค คือ ภาคเกษตร และอาหาร เครื่องจักร ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เพราะเริ่มเห็นการชะลอการผลิต และการลงทุน เพราะต้องรออัตราภาษีที่ชัดเจน รวมทั้งอาจจะชะลอการลงทุนถาวรในบางส่วน ทำให้จากการขอรับการลงทุนผ่านสำนักงานบีโอไอ 1 ปีข้างหน้า การลงทุนในส่วนของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกไปสหรัฐฯ 70,000 ล้านบาท อาจจะมีการชะลอการลงทุนไปก่อนหรือยกเลิกถาวร

    สำหรับการใช้นโยบายการเงินหรือการคลัง เพื่อช่วยลดผู้ได้รับผลกระทบทำได้ในระดับหนึ่งไม่ตรงจุดเท่ากับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหรือยกระดับภาคการผลิตของไทย โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินต้องพิจารณาไปที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมาก สำหรับการใช้อัตราดอกเบี้ยนั้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมา ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ภายใต้การคาดการณ์ว่า สหรัฐฯจะขึ้นภาษีไทย 10% ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% แต่เมื่อปรับมากกว่าที่คาดและมีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ การใช้จ่ายและการลงทุนให้ลดลงทำให้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่า 2.5% การส่งออกลดลงพอสมควรแต่ยังไม่ติดลบ รวมทั้งมองว่าจะกระทบให้อัตราเงินเฟ้อของไทยต่ำลงจากประมาณการเดิม ดังนั้นในการประชุม กนง.ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะนำปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ชะลอไปนำเสนอให้ กนง.พิจารณา

    ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า การบ้านที่ทางรัฐบาล และ รมว.คลัง ให้ ธปท.ดูแลเป็นพิเศษมี 2 เรื่อง คือ การดูแลตลาดการเงินของไทยให้ทำหน้าที่ได้ปกติ โดยยืนยันว่าไทยมีสภาพคล่องในประเทศเพียงพอ ขณะที่การดูแลค่าเงินบาท หลังจากสหรัฐฯขึ้นภาษีค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น เพราะนักลงทุนมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะชะลอตัวลง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง หน้าที่ของ ธปท.ยังคงเหมือนเดิมการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไป ขณะที่อีกเรื่องที่คลังฝากคือการติดตามสถานการณ์ภาพรวมอย่างใกล้ชิด และจับตาโอกาสการเกิดผลกระทบต่อภาคต่างๆ เพื่อช่วยกันหามาตรการในการช่วยเหลือรับมือที่เหมาะสม