REIC คาดQ2ตลาดอสังหาฯฟื้น ลดค่าโอน-จดจำนอง-LTVหนุน
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท และการผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ชั่วคราวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล และ ธปท. ดำเนินมาตรการที่ตรงจุดในการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อตลาดที่อยู่อาศัยตั้งแต่ไตรมาส 2/2568 เป็นต้นไป และคาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระยะยาวได้
ทั้งนี้ REIC ระบุว่า ไตรมาส 1/2568 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน 65,276 หน่วย ลดลง 10.5% มูลค่า 181,545 ล้านบาท ลดลง 130% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการชะอตัวในทุกภูมิภาค โดยการชะลอตัวของการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาพรวมการปล่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 1/2568 ลดลง โดยมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ มูลค่า 109,368 ล้านบาท ลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 121,529 ล้านบาท ทั้งนี้ ธอส. มีส่วนแบ่งทางการตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในไตรมาส 1/2568 สูงถึง 42.8% สะท้อนให้เห็นว่า ธอส. ยังคงเป็นสถาบันการเงินที่มีบทบาทในการสนับสนุนภาคอสังหาฯ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศ ในไตรมาส 1/2568 พบว่ามีการชะลอตัวลง โดยมีจำนวน 3,919 ล้านบาท ลดลง 0.5% และมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ จำนวน 16,392 ล้านบาท โดยคนต่างชาติมีสัดส่วน 29.3% ของมูลค่าการโอนกรมสิทธิ์ทั้งหมด และ 3 สัญชาติแรกที่มีจำนวนการโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด ได้แก่ อันดับ 1 จีน มีการโอนกรรมสิทธิ์ 1,481 หน่วย ลดลง 7.2% มูลค่า 6,117 ล้านบาท ลดลง 19.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, อันดับ 2 พม่า มีการโอนกรรมสิทธิ์ 439 หน่วย เพิ่มขึ้น 12% มูลค่า 1,587 ล้านบาท ลดลง 28.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอันดับ 3 รัสเซีย มีการโอนกรรมสิทธิ์ 288 หน่วย ลดลง 2.4% มูลค่า 987 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายกมลภพ กล่าวอีกว่า จากค่าเฉลี่ยการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2568 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งผลให้ REIC ปรับคาดการณ์ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2568 โดยคาดว่าจะลดลงจากปี 2567 และคาดจะมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลง 0.3% ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ลดลง 0.8% และจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศมีมูลค่าลดลง 0.3%